Copyright 2024 - ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ชั้น 1 - 4 เลขที่ 120 หมู่ที่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม. 10210 โทรศัพท์ 0 2142-1234

ต่อสู้กับกิเลส : พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตฺโต
วัดบุญญาวาส ต.บ่อทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี


ถ้าจิตของเรานั้นไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ที่จะรักษาจิตใจของเราแล้ว
จิตของเรานั้นก็จะยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ทั้งหลายว่าเป็นจิตใจของเราอยู่เสมอๆ
ไม่ว่าจะมีความโลภ เกิดขึ้น ก็เป็นใจของเรา
ไม่ว่าจะมีความโกรธ เกิดขึ้น ก็เป็นใจของเรา
ไม่ว่าจะมีความพอใจ ความไม่พอใจ
ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ก็คิดว่าเป็นใจของเรา
ไม่ว่าจะมีความกำหนัดยินดีในรูป ก็คิดว่าเป็นใจของเรา
ใจของเราก็เป็นทุกข์ เมื่อกิเลสเกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา
เพราะใจของเรานั้นไม่ทราบตามความเป็นจริง
ไปยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ทั้งหลายว่าเป็นจิตใจของเรา
ความทุกข์ต่างๆ จึงเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ

เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์หรือครูบาอาจารย์จึงสอน
ให้พวกเราทุกคนพยายามมีสติ เฝ้าดูจิตใจของเรานี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ไม่ใช่ว่าไปดูบุคคลอื่น ว่าเขาทำอะไร หรือเขาพูดอะไร
แล้วเอาสิ่งที่ไม่ดีมาเผาอารมณ์จิตใจของเรา
ทำให้จิตใจของเรานั้นมีความทุกข์ใจ มีความไม่สบายใจ
นักประพฤติปฏิบัตินั้นพึงมีสติ เฝ้าเห็นกิเลสภายในใจของเราอยู่เสมอ
ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ไม่ดี สิ่งใดเป็นกิเลสซึ่งเกิดขึ้นภายในใจของเรานั้น
ให้หาอุบายปัญญาทำลายความโลภ ให้บรรเทาเบาบางลงไป
หาอุบายปัญญาทำลายความโกรธ ความไม่พอใจ หรือความยินดีในรูป
ให้บรรเทาเบาบางลงไป จึงจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ถ้าเรามีสติเฝ้าดูจิตใจของเรานั้นอยู่เสมอๆ
เราก็จะเห็นอารมณ์ เห็นกิเลส
เมื่อเราเห็นอารมณ์ เห็นกิเลสภายในใจของเรา
เราก็หาอุบายปัญญา มาพิจารณาละวางอารมณ์ที่ไม่ดีออกไป
แต่ถ้ากำลังของสติไม่ตั้งมั่นพอ จิตของเรานั้นหลงไปกับอารมณ์ทั้งหลาย
ก็ให้กำหนดสมาธิภาวนา ตัดอารมณ์ที่ไม่ดีออกไปอยู่เสมอๆ
กำหนดสติ กำหนดสมาธิให้ต่อเนื่อง
เมื่อจิตของเรามีกำลัง มีสติตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบันธรรมแล้ว
คือเห็นจิตอยู่เสมอ ก็เห็นอารมณ์ซึ่งเกิดขึ้น
เมื่อเห็นอารมณ์เกิดขึ้น ก็มีปัญญาในการที่จะพิจารณาทำลายทุกๆ ขณะจิต
ถ้าเราทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จิตใจของเรานั้นก็จะค่อยๆ ว่างจากอารมณ์ทั้งหลาย
ถึงแม้มีอารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้น ก็รู้จักปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นออกไปได้
มีสติ มีปัญญา รู้เท่าทันสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวง
ว่าอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น มีความเกิดขึ้น
และมีความดับไปเป็นธรรมดาอยู่เช่นนั้น หาใช่บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่

เพราะฉะนั้นเราทุกคนจะต้องพยายาม
ที่จะรู้จักต่อสู้กับกิเลสภายในจิตใจของเรา
ในทุกๆ วันให้พยายามที่จะมีสติดูจิตใจของเรา
และปรารภความเพียรไปทุกๆ วัน ไม่ท้อถอย
สำรวมจิตใจของเรานั้นอยู่เสมอๆ
ถ้าเราทุกคนทำความเพียรไปเช่นนี้
ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เราทำความเพียรไปตลอดเวลา
ในอนาคตข้างหน้าเราอาจจะแยกย้ายไปปฏิบัติคนละสถานที่ก็ตาม
แต่เราก็มุ่งหวังในการประพฤติการปฏิบัติธรรมอยู่เสมอๆ ไม่ทิ้งความเพียร
เราก็สามารถที่จะประสบกับความสำเร็จในการประพฤติการปฏิบัติธรรมได้

 

ที่มาของเนื้อหา :: http://www.dlitemag.com/
ที่มา : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=30798