บทความคุณธรรม
ลาออกจากความทุกข์... ท่าน ว.วชิรเมธี
เคยแต่ได้ยินคนพูดกันว่า...ผม/ฉัน ลาออกจากงานแล้วครับ/ค่ะ... จนชิน แต่มีอยู่คนหนึ่งเขาบอกว่า... "ผมลาออกจากความทุกข์แล้วครับ" เจ้าของคำพูดนี้คือ ผู้ชายคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่บนเก้าอี้วีลแชร์มาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว..
เขาคือ อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม อดีตครูพลศึกษา วิทยาลัยพลศึกษา จังหวัดอ่างทอง เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งขณะครูพละหนุ่มอายุเพิ่งย่าง 25 ปี กำลังกระโจนลงสระน้ำเพื่อสอนว่ายน้ำให้กับนักศึกษาตามปกติอยู่นั้นเอง โดยไม่คาดฝัน พลันศรีษะก็กระแทกเข้ากับพื้นสระอย่างแรงจนแน่นิ่งไป
มารู้สึกตัวอีกทีพบว่ากระดูกต้นคอข้อที่ห้าหักไปกระทบกับระบบประสาทไขสันหลังจนกลายเป็นอัพพาต ชาไปทั้งตัว แขน ขา และ มืออยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้งานตามปกติได้อีกนับแต่บัดนั้น..
หลังออกจากโรงพยาบาลอาจารย์กำพลกลายเป็นคนพิการ ต้องทนใช้ชีวิตอยู่บนรถวีลแชร์เกือบตลอด 24 ชั่วโมง ในระหว่างนี้ท่านพยายามยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นให้ได้ แต่ยิ่งพยายามก็ยิ่งดูเหมือนตอกย้ำให้สภาพจิตใจแย่ลงไปอีก เพราะความทุกข์ที่กายและใจแบกรับอยู่นั้นมันหนักหนาเกินกว่าคนธรรมดาๆคนหนึ่งจะทำได้..
ตลอดเวลาที่ทนทุกข์อยู่บนรถเข็น ท่านเฝ้าถามตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้อย่างไร ย้ำคิด ย้ำทำ และ ย้ำทุกข์ ทุกข์ทั้งกาย ทุกข์ทั้งใจ จนบางวันก็ภาวนาขอให้ตัวเองล้มหายตายจากไปเสียเร็วๆด้วยซ้ำ...
นับแต่วันเกิดอุบัติเหตุจนเวลาล่วงไปกว่า 16 ปี อาจารย์กำพล เพียรหาวิธีดับทุกข์ให้ตัวเองด้วยธรรมะ จากคนที่ไม่เคยอ่านหนังสือธรรมะเลย กลายเป็นคนที่มีหนังสือธรรมะเต็มตู้ แต่ทุกข์นั้นก็ยังไม่หาย กระทั่งวันหนึ่งคุณพ่อของท่านได้นำเทปธรรมะและ หนังสือคู่มือปฏิบัติธรรมตามแนวทางของหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ มาให้ศึกษา ท่านไม่รอช้า รีบทดลองปฏิบัติตามคู่มือที่ได้มา ซ้ำยังเขียนจดหมายไปขอฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่ออีกต่างหาก..
การปฏิบัติธรรมด้วยการเจริญสติของอาจารย์กำพลเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะต้องนอนปฏิบัติ เนื่องจากร่างกายเคลื่อนไหวไม่ได้ แต่ทั้งๆที่นอน "ดูใจ"(เจริญสติ) ของตัวเองอยู่นั่นเอง ผลของการปฏิบัติธรรมกลับก้าวหน้าเกินคาดราวปาฏิหาริย์ กล่าวคือ วันหนึ่งจิตของท่านได้เปลี่ยนคุณภาพใหม่ กลายเป็นจิตที่ไร้ทุกข์ มีแต่สุข และความรู้ตัวตื่นอยู่ตลอดเวลา (สติ) เมื่อได้ปฏิบัติมาได้ถึงขั้นนี้ ความทุกข์ทางกายก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับท่านอีกต่อไป เพราะกายกับใจนั้นแยกกันเป็นคนละส่วนอยู่แล้ว..
ท่านสรุปว่า.."ความพิการเป็นเรื่องของกาย แต่ใจเราไม่พิการ" นับแต่การฝึกปฏิบัติธรรมปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม อาจารย์กำพลก็กลายเป็นคนใหม่อย่างสิ้นเชิง นั่นคือไม่เพียงแต่จะกลายเป็นคนที่หมดทุกข์ทางใจและมีใบหน้าเปื้อนยิ้มอยู่ตลอดเวลา ถึงขนาดกล้าประกาศว่า "ผมลาออกจากความทุกข์" เท่านั้น แต่ชีวิตของท่านยังพลิกผันจนกลายมาเป็นครูสอนวิปัสสนากรรมฐานให้กับคนอื่นๆซึ่งกายไม่พิการอีกด้วย...
อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม คือแบบอย่างของคนสู้ชีวิตที่ค้นพบโอกาสในวิกฤติได้อย่างงดงาม และสิ่งที่ท่านค้นพบไม่เพียงแต่จะทำให้ท่านพ้นทุกข์เพียงคนเดียวเท่านั้น ทว่ายังมีคนอีกมากมายที่ได้อาศัยท่านเป็นครู แล้วเพียรเจริญรอยตามจนเห็นธรรมท่ามกลางทุกข์ได้ อย่างปาฏิหาริย์อีกไม่น้อย..
"ในสุขมีทุกข์ ในมืดมีสว่าง และ ในวิกฤติมีโอกาส".. คำกล่าวนี้ยังคงเป็นความสัตย์ที่ท้าทายให้เราก้าวเข้าไปพิสูจน์อยู่เสมอ ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานสักเพียงใด..
คัดลอกจากหนังสือ ธรรมะสบายใจ : ท่าน ว.วชิรเมธี..
ขออนุญาตเผยแพร่เป็นธรรมทาน
ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=39316