พระราชดำรัส/พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
10 พระราชดำรัสของรัชกาลที่ 10
พระราชดำรัสและพระราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่พระราชทานแก่คนไทยทั้งในปัจจุบันและเมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในวาระต่าง ๆ
ส.ศิวรักษ์: ร. 10 คือ "พระมหากษัตริย์ผู้ทรงปิดทองหลังพระ"
29 ธันวาคม 2515
"...ข้าพเจ้าทราบตระหนักว่า ข้าพเจ้ามีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อประเทศชาติอย่างสูง และการปฏิบัติราชการแผ่นดินนั้น เป็นภาระสำคัญใหญ่ยิ่ง ที่ต้องอาศัยทั้งสติปัญญาและความรู้ความสามารถอย่างพร้อมมูล ข้าพเจ้าจะต้องเพียรพยายาม ศึกษาและปฏิบัติฝึกฝนตนเองต่อไปอีกอย่างมาก เพื่อให้สามารถเหมาะสม กับหน้าที่ ตามที่ทุกคนมุ่งหวัง... ในโอกาสอันพิเศษนี้ จึงใคร่ขอให้ท่านทั้งหลายได้เป็นกำลังใจสนับสนุนข้าพเจ้า และได้ตั้งความ ปรารถนาร่วมกันกับข้าพเจ้าที่จะมุ่งมั่นประกอบกรณียกิจ ด้วยความสามัคคีพร้อมเพรียง และด้วยความสุจริตยุติธรรม เพื่อยังความเจริญมั่นคงและความร่มเย็นเป็นผาสุกให้บังเกิดแก่ชาติ ประเทศ และ ประชาชนยั่งยืน สืบไป..."
พระราชดำรัส สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงให้คำมั่นไว้ในงานสโมสรสันนิบาต ซึ่งรัฐบาลจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ที่ทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
29 มีนาคม 2539
"…การทำงานทุกอย่าง ย่อมต้องมีปัญหาข้อขัดข้องเกิดขึ้นบ้าง เป็นเรื่องปรกติธรรมดา แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะต้องรีบปฏิบัติแก้ไข ไม่ปล่อยทิ้งไว้ให้เกิดความเสียหายแก่งานได้ ผู้ปฏิบัติบริหารงานจึงต้องเอาใจใส่ติดตามผลการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด จักได้ทราบถึงปัญหาสาเหตุที่เกิดขึ้นและปฏิบัติแก้ไขได้ถูกต้องทันท่วงที..."
พระราโชวาท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันราชภัฏ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
11 มีนาคม 2550
"…สังคมดำรงอยู่ได้ด้วยการกระทำประโยชน์เกื้อกูลกัน และทุกคนที่อยู่ร่วมกันย่อมเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ประโยชน์ บัณฑิตในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และเป็นบุคคลที่สังคมยอมรับในความรู้ความสามารถ จึงควรประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์แก่งสังคมทุกเมื่อ…"
พระราโชวาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันราชภัฏ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
1 ธันวาคม 2559
"ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา ได้กล่าวในนามของปวงชนชาวไทย เชิญข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมนาถบพิตร และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ข้าพเจ้าขอตอบรับ เพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง"
พระราชดำรัส สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นทรงราชย์
7 ธันวาคม 2559
"ขอบใจ และแสดงความยินดี ขอบใจที่มีน้ำใจช่วยงาน ที่ว่าคณะองคมนตรีในยุคนี้ ปัจจุบันนี้ก็จะได้รับการมอบภารกิจ ตลอดจนได้รับโอกาส หรือหน้าที่ที่จะให้คำแนะนำ ตลอดจนช่วยกันดำรงความมั่นคงสถาบันของประเทศชาติ ตลอดจนแบ่งงานกันให้ละเอียดอีกครั้งว่าใคร ทำอะไร เรื่องทำงานก็จะให้ขอคำแนะนำ ตลอดจนปรับความสำคัญในการทำงานของประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายเกี่ยวกับสถาบันและประเทศชาติ เป็นเรื่องของแผ่นดิน มีเรื่องต่าง ๆ ที่จะมอบให้ก็มาก ดังที่ได้คุยกันนอกรอบแล้ว ขอขอบคุณ และได้ป๋ามาเป็นประธาน ก็อุ่นใจแล้ว ทุกคนก็เคยทำหน้าที่ถวายรัชกาลก่อน หลายคนก็เชื่อมือกัน มีความสุข ตั้งใจทำงานได้ ขอบคุณ"
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานพระราชดำรัสแก่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และองคมนตรีแต่งตั้งใหม่ 10 คน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
20 ธันวาคม 2559
"ขออวยพรให้ทุกท่านมีกำลังกาย กำลังใจ และกำลังปัญญา ตลอดจนขวัญและความสุข เพื่อปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศและประชาชน ซึ่งถ้าปฏิบัติได้ดี มีความตั้งใจ มีความขันติ มีความอดทน... ขอให้พร และขอพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงคุ้มครอง ได้ทรงชี้แนะ และปกปักษ์รักษาพวกท่าน เพราะว่าตลอดระยะเวลา 70 ปี ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ได้ทรงปฏิบัติมามาก และหลายอย่างได้พระราชทานพระราชดำริ และพระราชทานแนวทางไว้ ก็ขอฝากให้ท่านได้ศึกษาพระราชดำริ ศึกษาวิเคราะห์ พระราชปณิธานและศึกษาพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ทรงปฏิบัติมา
อันนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เป็นสิริมงคลและเป็นยิ่งกับพระที่คุ้มครองพวกเรา การปฏิบัติตามหรือการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ระลึกถึงพระราชดำริหรือพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นี้จะเป็นพระ เป็นแสงสว่าง ที่คุ้มครองหรือแนะนำพวกเราต่อไป"
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชดำรัส ให้กำลังใจคณะรัฐมนตรีใหม่ เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ
28 ธันวาคม 2559
"อัยการนั้นมีหน้าที่มากมายหลายอย่าง แต่ก็อยู่ในกรอบขอบเขตของการปฏิบัติการทางด้านกฎหมายและชีวิตของราษฎร ก็คือ ดูแลรักษาอำนวยความยุติธรรม หรือช่วยขบวนการแห่งการยุติธรรมให้ไปได้อย่างเรียบร้อยถูกต้อง อัยการมีหน้าที่กว้างขวาง ใส่หมวกหลายใบ มีหน้าที่มากมาย แต่จะต้องจำไว้ว่า มีหน้าที่ที่จะอำนวยความยุติธรรมและอำนวยการให้ขั้นตอนต่าง ๆ ของการปฏิบัติงานในการอำนวยการหรือให้ความยุติธรรมต่อประชาชน"
พระราชดำรัส สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานแก่คณะอัยการที่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
31 ธันวาคม 2559
"ในปีใหม่นี้ ขอให้ชาวไทยทุกคน ตั้งใจให้แน่วแน่ที่จะรักษาคุณสมบัตินี้ให้เหนียวแน่น และทำความคิดจิตใจให้แจ่มใส ด้วยปัญญาที่กระจ่าง พิจารณาทุกสิ่งที่เกิดมีขึ้นตามความเป็นจริง โดยปราศจากอคติ ให้มีความมุ่งมั่น มีกำลังใจ ในอันที่จะร่วมกันปฏิบัติสรรพกิจน้อยใหญ่ ในภาระหน้าที่ตามแนวพระบรมราโชบายที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ ให้งานทุกอย่างสำเร็จผล เป็นความดีความเจริญ ทั้งแก่ตนเอง แก่ส่วนรวม และประเทศชาติ เป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ"
"ในการนี้ ข้าพเจ้าขอปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับประชาชนชาวไทยโดยเต็มกำลังความสามารถ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานเช่นกัน"
พระราชดำรัส สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2560 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
7 กุมภาพันธ์ 2560
"การอำนวยการหรือปฏิบัติการทางด้านความยุติธรรม และทางด้านกฎหมายนั้น ไม่ว่าทหารหรือพลเรือนก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อความสุข ความสงบ และความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติและประชาชน หน้าที่ของศาลทหาร ตุลาการศาลทหาร ก็มีระบุไว้แล้วในกฎหมาย แต่ทหารนั้นเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกฝนและมีการจัดตั้งเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่แล้วทางทฤษฏี มนุษย์เราก็สามารถจะทำความผิดได้ หรือมีความผิด เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอาญาทหารหรือวินัยทหารก็ต้องมีการรักษา มีการให้ความยุติธรรม และมีการแก้ไขในการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องของผู้กระทำความผิด เพราะฉะนั้น การอำนวยการยุติธรรม ขั้นตอนที่ถูกต้องก็ต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ในด้านกฎหมาย ตลอดจนมีความเข้าใจในชีวิต ในสังคม หรือในอุดมการณ์ของชาติ เพราะว่ากฎหมายนั้น ใช้ให้ถูกก็ดี ใช้ให้ไม่ถูกก็เสียมาก เพราะฉะนั้นท่านเป็นผู้มีความรู้ มีความสามารถ มีวุฒิภาวะแล้ว ก็ย่อมพิจารณาออกว่า อะไรควร อะไรไม่ควร และนำกฎหมายไปใช้ให้ถูกต้องเพื่อระงับทุกข์ แก้ไขในเรื่องที่ไม่ถูก หรือมีบทพิพากษาให้เกิดความยุติธรรมได้"
พระราชดำรัส สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานแก่คณะผู้พิพากษา และตุลาการศาลทหาร ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
1 เมษายน 2560
"งานราชการนั้น คืองานของแผ่นดิน มีผลเกี่ยวเนื่องโดยตรงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนทุกคน ดังนั้น ข้าราชการผู้ปฏิบัติบริหารงานของแผ่นดิน จึงต้องทำความเข้าใจถึงความสำคัญในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนให้ถ่องแท้ แล้วร่วมกันคิดร่วมกันทำด้วยความอุตสาหะ เสียสละ และด้วยความสุจริตจริงใจ โดยถือประโยชน์ที่จะเกิดจากงานเป็นหลักใหญ่ งานของแผ่นดินทุกส่วน จักได้ดำเนินก้าวหน้าไปพร้อมกัน และสำเร็จประโยชน์ที่พึงประสงค์ คือ ยังความเจริญมั่นคงให้เกิดแก่ประเทศชาติและประชาชนได้แท้จริงและยั่งยืนตลอดไป"
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานพระราโชวาทแก่ข้าราชการพลเรือนเนื่องในวันข้าราชการพลเรือน